สรุปผลงาน โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5
สรุปผลงาน โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5
สรุปผลงานที่สำคัญๆ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” จังหวัดร้อยเอ็ด
โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด
ตามที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้ดำเนินงาน ตามโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ ๓ (ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐) โดยจะเน้นทางด้านปริมาณ ควบคู่ไปกับด้านคุณภาพ เป็นการบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมรูปแบบต่างๆ และจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทุกภาคส่วนไปแล้ว ซึ่งหากในแต่ละพื้นที่/อำเภอ/หน่วยงาน มีการจัดกิจกรรมบูรณาการขับเคลื่อนโครงการฯในรูปแบบต่างๆ ขอให้รายงานให้จังหวัดทราบด้วย โดยมีกิจกรรมสำคัญๆที่ดำเนินการในระยะที่ ๓ ไปแล้ว ดังนี้ ๑. โครงการ “สวดมนต์ข้ามปี ทำความดีข้าม พ.ศ. จังหวัดร้อยเอ็ด ๑,๑๐๑ วัด” เนื่องในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๙ ในช่วงค่ำวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ จนย่างเข้าวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๙ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมกิจกกรม รวมทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ระยะที่ ๓ อีกด้วย ซึ่งมีวัดในจังหวัดร้อยเอ็ดและพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
๒. โครงการ “สงกรานต์ปลอดเหล้า เข้าวัดปฏิบัติธรรม นำพาชีวิตปลอดภัย ประจำปี ๒๕๕๙ จังหวัดร้อยเอ็ด” เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและมหาเถรสมาคม ในการรณรงค์งดเหล้า ลดอุบัติเหตุ ในเทศกาลสงกรานต์ และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ระยะที่ ๓ โดยมีเป้าหมายโครงการคือประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่า ทุกครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ทุกตำบล และทุกอำเภอ ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ ๗ – ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙ รวม ๑๐ วัน ซึ่งประชาชนได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาดำรงชีวิตอย่างมีความสุข เกิดความสงบ และสันติสุข มีความรัก ความสามัคคีปรองดอง เกิดความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ๓. โครงการ “ปฏิบัติธรรม ครอบครัวอบอุ่นด้วยพระธรรม” ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ร่วมกับวัดสถานศึกษา ส่วนราชการ และประชาชนทุกภาคส่วน จัดโครงการในหลายพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติในครอบครัวให้เกิดความรัก อบอุ่น ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข ๔. จังหวัดได้ขอข้อมูลการก่อคดีอาชญากรรมทุกประเภทจากตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ทุกรอบ ๖ เดือน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกในด้านตัวชี้วัดเชิงคุณภาพต่อไป (รายงานรอบมิถุนายน และธันวาคม) ๕. จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามและหาแนวทางดำเนินกิจกรรม หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพ ๖. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรมระดมความคิดถอดบทเรียน“หมู่บ้านรักษาศีล ๕” บ้านหนองกุง หมู่ที่ ๔ ตำบลสว่าง อำเภอโพนทอง เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน และพระภิกษุสามเณร รวม ๕๐ รูป/คน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาข้อมูลการรักษาศีล ๕ ของประชาชนในหมู่บ้านทั้งรายบุคคลและภาพรวม ๒.เพื่อศึกษาและกำหนดวิธีการรักษาศีล ๕ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ๓. เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้งานศพปลอดเหล้า และปลอดการพนัน ผลักดันให้ครอบครัวและชุมชนเกิดความสงบสุข และ ๔. เพื่อนำไปเป็นแนวทางส่งเสริมให้ประชาชน รักษาศีล ๕ เพิ่มขึ้น โดยจะนำผลที่ได้มาขยายผลสู่ชุมชน/หมู่บ้านอื่น ต่อไป
-๒-
๗. ข้อมูลการสมัครทางเว็ปไซต์ www.sila 5.com com ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ จังหวัดร้อยเอ็ดมียอดผู้สมัครอยู่ลำดับที่ ๔๘ ของประเทศ จำนวน ๕๘๕,๓๗๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕ ของจำนวนประชากรจังหวัดร้อยเอ็ด ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทยคือ ๑,๓๐๘,๑๖๖ คน
แนวทางในการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” ในระยะที่ 3 (ตุลาคม 2558-กันยายน 2560) ของจังหวัดร้อยเอ็ด
โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีบทบาทสำคัญ เพื่อจัดกิจกรรมตามโครงการฯ ที่จะส่งเสริมให้บุคคล สถาบัน สถานศึกษาและหน่วยงานเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตัวแทนของส่วนราชการเสนอโครงการที่จะนำมาบูรณาการเข้ากับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อจัดเป็นหมู่บ้านต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ ๑ หมู่บ้าน เช่น
- สาธารณสุขจังหวัด โครงการหมู่บ้านสุขภาพดีวิถีไทยวิถีพอเพียง
- พัฒนาชุมชนจังหวัด. หมู่บ้านแหล่งท่องเที่ยว ,หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
- กศน.จังหวัด การพัฒนาทักษะ ครูนอกโรงเรียน
- ปกครองจังหวัด หมู่บ้านโครงการส่งเสริมประชาธิปไตย
- วัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์, ลานธรรมลานวิถีไทย
ได้ข้อสรุปในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในระยะที่ 3 จากการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ ฯ ดังนี้
1. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่มีโครงการในหมู่บ้านเป้าหมายที่นำมาบูรณาการเข้ากับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 สำรวจว่าโครงการของตนอยู่ในพื้นที่ ตำบล อำเภออะไร
2. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยให้เป็นหน่วยงานที่มีกิจกรรมใกล้เคียงเพื่อมาบูรณาการ และทำงานร่วมกัน
3. จัดประชุมระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนหมู่บ้านเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ
4. จัด Work shop เพื่อปรับปรุงกิจกรรมที่จะมาดำเนินการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5
5. กิจกรรมที่จะดำเนินการต้องบ่งชี้ว่าเป็นสถานที่รักษาศีล 5 เช่น อาจแต่งชุดขาวในวันพระ หรือสวดมนต์ เป็นต้น
6. พระนักเทศก์/หรือฆราวาสมาบรรยายธรรม อบรมปฏิบัติธรรม
7. จัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน/กิจกรรม งาน Event เชิญผู้มีซื่อเสียง เช่น พระนักเทศ/ดารา/นักแสดง มาร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ
และนอกจากนั้นยังมีกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ ดังนี้
๑. ขยายผลประกาศสำนักธรรมนูญประชาชนคนตำบลฯ เรื่องมาตรการลด ละ เลิกอบายมุข ตามรูปแบบของตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ขยายผลประกาศสำนักธรรมนูญประชาชนคนตำบลฯ ทุกตำบล เช่นมาตรการลด ละ เลิก อบายมุข และส่งเสริมกิจกรรมร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักศีล ๕ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามเป้าหมายในระยะที่ ๓
-๓-
๒.ขยายผลโรงเรียนตัวอย่าง ตามรูปแบบการจัดกิจกรรมกิจกรรมของโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร ขยายผลโรงเรียนตัวอย่างฯในกิจกรรมต่างๆเช่น สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ / หนูน้อยโรงเรียนศีล ๕ / ธนาคารขยะ /กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม อื่นๆ เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาทุกแห่งในจ.ร้อยเอ็ด /โรงเรียนในสังกัดเทศบาล/ โรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต ๑,๒,๓ และมัธยมศึกษาเขต ๒๗ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในระยะที่ ๓ ๓. ขยายผลชุมชนตัวอย่าง “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ครบ ๑๐๐ % ตามรูปแบบกิจกรรม ชุมชนบ้านหนองบั่ว อำเภอสุวรรณภูมิ และชุมชนอื่นๆ ที่สามารถเป็นแยบอย่างได้ขยายผลชุมชนตัวอย่างฯ ในด้านต่างๆเช่น การทำบุญตักบาตรทุกวันอาทิตย์ที่บริเวณหน้าสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ร้อยเอ็ด การทำบุญตักบาตรรักษาศีล ๕ ในวันธรรมสวนะ การรณรงค์หมู่บ้านปลอดเหล้าและอบายมุข โดยมีอำเภอโพนทราย,สุวรรณภูมิ,เกษตรวิสัยเป็นอำเภอต้นแบบ และขยายผลให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในระยะที่ ๓
๔.ขยายผลกิจกรรมขับเคลื่อนตามจารีตประเพณีอีสาน (ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่) ขยายผลตามจารีตประเพณีอีสาน (ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่) เช่นประเพณีบุญผะเหวด ทอดกฐิน ๑๐๑ กอง การจัดบุญไหว้พระ ๙ วัดช่วงเข้าพรรษา และกิจกรรมอื่นๆตามเทศกาลประเพณีที่สำคัญ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในระยะที่ ๓
๕. กิจกรรมขับเคลื่อนให้มีการสมัครเข้าร่วมโครงการ/การบันทึกข้อมูลผู้สมัครลงเว็ปไซต์กลางอย่างต่อเนื่อง/การรายงานผลโครงการฯ ขับเคลื่อนโครงการฯ เรื่องการแจกใบสมัคร/แนะนำการสมัครเข้าร่วมโครงการ/การบันทึกข้อมูลผู้สมัครลงเว็ปไซต์กลางอย่างต่อเนื่อง /การรายงานผล/การสรุปผล/การประชาสัมพันธ์/ ประสานงานโครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในระยะที่ ๓
***และนอกจากนั้นยังผ่านการประเมิน จากการรับการตรวจประเมินโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” โดยพระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค ๗ ประธานการขับเคลื่อนโครงการ และ คณะ ฯ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ ณ วัดบ้านเปลือยใหญ่ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดร้อยเอ็ด
กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ระยะที่ ๓ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕”จังหวัดร้อยเอ็ด บรรลุวัตถุประสงค์ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้จัดทำโครงการตรวจเยี่ยม ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานการขับเคลื่อน โครงการ“หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ระยะที่ ๓ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยกำหนดดำเนินการทั้ง ๒๐ อำเภอ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม – กันยายน ๒๕๕๙ .
*****************************